“หนี้นอกระบบ” ยังคงเป็นปัญหาในระบบการกู้ยืมในสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ที่ต้องการกู้เงิน แต่สิ่งที่ได้รับกลับเป็น...อัตราดอกเบี้ยที่แพงลิ่วการติดตามทวงหนี้ที่หฤโหด หรือบางกลุ่มอาจไม่มีโอกาสที่จะสามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมด...
วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ “สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์” สินเชื่อที่สามารถตอบโจทย์รายย่อย จนเรียกได้ว่าเป็นสินเชื่อขวัญใจรายย่อยเพราะมีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกแสนถูก “ผ่าน คุณสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย และคุณฉัตรชัย เล่งอี้ ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร
“คุณสมเกียรติ จตุราบัณฑิต” นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย เล่าถึงความเป็นมาของสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ว่า เป็นสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังเพื่อช่วยประชาชนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ง่ายขึ้น หลีกพ้นจากการกู้หนี้นอกระบบ ซึ่งเริ่มให้ผู้ประกอบการมีการขอใบอนุญาตเมื่อปลายปี 2559 มาจนถึงปัจจุบัน
ผู้ประกอบการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ให้บริการสินเชื่ออยู่ 2 ประเภท คือ 1.สินเชื่อพิโกธรรมดา วงเงินกู้ไม่เกิน 50,000 บาท และคิดอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมแล้วไม่เกิน 36% ต่อปีหรือคิดเป็นเดือนละ 3% พร้อมลดต้นลดดอก 2.สินเชื่อ พิโกพลัส วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาท และคิดอัตราดอกเบี้ยแบ่งเป็น 2 วงเงิน วงเงินแรกคือ 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 36% เหมือนพิโกธรรมดา ส่วนที่ 2 คือ ส่วนที่เกินวงเงิน 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
คิดอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมแล้วไม่เกิน 28% ต่อปี
“รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เล็งเห็นว่าในแต่ละชุมชนต่างๆ ของทั่วประเทศมีหนี้นอกระบบจำนวนมาก และทางรัฐบาลมีนโยบายที่จะปราบปราม แก้หนี้นอกระบบ จึงจัดตั้งให้มี พิโกไฟแนนซ์ ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และวัตถุประสงค์ก็เปิดกว้างมาก โดยเป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ ไม่ว่าจะชำระหนี้เงินกู้นอกระบบ หรือว่าจะไปชำระค่าเทอมหรือว่าจะเหมือนประกอบอาชีพอะไรก็ได้ทั้งหมด สามารถเปิดวงกว้าง ส่วนในหลักประกันก็จะเปิดวงกว้าง คือจะมีหลักประกันหรือไม่มีหลักประกันก็ได้ ทำให้พิโกไฟแนนซ์เป็นสถาบันการเงินขนาดย่อยที่ใกล้ชิดชุมชนมากที่สุด” นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย กล่าว
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ จำนวน 737 รายทั่วประเทศ โดยอยู่ในหัวเมืองใหญ่มีกรุงเทพมหานคร 107 ราย นครราชสีมา 112 ราย ขอนแก่น 66 ราย
สำหรับกลุ่มลูกค้าของพิโกไฟแนนซ์ นายกสมาคมพิโกฯ กล่าวว่า ลูกหนี้ที่มาขอกู้สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ด้วยกัน กลุ่มแรก คือ กลุ่มแม่ค้าที่มีรายได้เป็นรายวัน และมีแผงค้า กลุ่มนี้เราจะคิดดอกเบี้ยแบบรายเดือน หรือราย 50 วัน, ราย 100 วัน และผลชำระก็จะให้ผลเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งจะต่างจากเจ้าหนี้นอกระบบที่จ่ายเป็นรายวันทุกวัน และของเราจะคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกด้วย
และกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มมีรายได้เป็นเงินเดือน เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานโรงงาน แล้วก็กลุ่มทั่วไปที่มีรายได้เป็นค่าจ้าง ถ้ามากู้ใช้เอกสาร มีหนังสือรับรองเงินเดือน สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือนสเตทเม้นท์ย้อนหลัง 6 เดือน ก็สามารถขอยื่นกู้ได้ และผู้ประกอบการพิจารณาด้วยความรวดเร็ว และในส่วนนี้ ผู้มาขอกู้ก็มีการจดหลักประกันทางธุรกิจด้วยเพื่อที่จะลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการ
กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มเกษตรกร ซึ่งมีจำนวนมากในพื้นที่ในประเทศไทย โดยมีผู้ขอกู้นำโฉนดที่ดินมาไว้ มีสัดส่วน 80%
“คุณฉัตรชัย เล่งอี้” ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรกล่าวเสริมว่า หลักฐานที่ใช้สำหรับการกู้เงินนั้นขึ้นอยู่
กับกำลังในการชำระหนี้แล้วแต่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะพิจารณา มีทั้งมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ถ้าหากว่ามีผู้ค้ำประกันอาจไม่ต้องใช้หลักทรัพย์อื่น ซึ่งหลักทรัพย์ในการค้ำประกันในกรณีไม่มีผู้ค้ำประกันอาจจะเป็นเล่มรถมอเตอร์ไซค์ เล่มรถยนต์ หรือโฉนดที่ดิน เอามาใช้แทนในการค้ำประกันได้
เมื่อถามถึงจุดแข็งของพิโกไฟแนนซ์ คือ การเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ได้โดยง่าย เนื่องจากผู้ประกอบการแต่ละรายเป็นคน
ในพื้นที่ ดังนั้นจะมีความคุ้นเคยกับคนในพื้นที่ที่มาขอกู้เงิน ทำให้มีความประนีประนอม ความเอื้ออาทร ซึ่งจะแตกต่างจากพวกไฟแนนซ์ใหญ่ที่ค่อนข้างจะมีกฎระเบียบที่ชัดเจนและไม่สามารถยืดหยุ่นได้ เช่น หากจะขอยืดระยะเวลาในการผ่อน ขอค้างชำระเกิน3 เดือน ส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การจัดไฟแนนซ์รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ถ้าค้างเกิน 3 เดือนจะต้องยึดรถ แต่ทางพิโกไฟแนนซ์ไม่เป็นแบบนั้น หากค้างเกิน 3 เดือนเราก็พูดคุยกันได้ ไม่มีการยึดรถ ถ้าหากว่าลูกค้าไม่ยินยอม หรือไม่ประสงค์จะให้ยึดรถ เราก็ต้องประนีประนอม ซึ่งของเรามีกฎที่ค่อนข้างยืดหยุ่นได้ในการประนีประนอม เอื้ออาทรต่อลูกค้าทุกท่าน
และในช่วงสถานการณ์โควิดเราได้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาลูกค้า 5 มาตรการ คือ
1.พักจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน
2.ขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระออกไปให้ยืดยาวออกไป
3.ลดดอกเบี้ย
4.ลดค่าผ่อนชำระแต่ละงวดให้น้อยลง
5.ไม่คิดการทวงถาม ไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายในการปรับ ในการล่าช้ากับลูกค้า ซึ่งใน 5 มาตรการนี้มีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 335 ราย โดยแบ่งเป็นทางภาคอีสาน 222 ราย ภาคเหนือ 31 ราย ภาคตะวันออก 30 ราย ภาคกลาง 37 ราย และภาคใต้ 15 ราย
ผู้ประกอบการสนใจธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ หรือผู้สนใจกู้ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.pico-thailand.com หรือทาง Facebook ของสมาคมฯ และในอนาคตจะมีแอพพลิเคชั่นของพิโกไฟแนนซ์ โดยขณะนี้ทางสมาคมฯ อยู่ระหว่างจัดทำ คาดว่าไม่เกิน 3 เดือนเสร็จ
อ้างอิงเนื้อหา และรูปภาพจาก https://www.naewna.com/business/506337