มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ชวนมาปรับโครงสร้างหนี้และล้างหนี้นอกระบบ
25 Jan, 2023 / By
chatchaiphiko
ชวนมาปรับโครงสร้างหนี้ และล้างหนี้นอกระบบ ในงานมหกรรมร่วมใจแก้ไขหนี้ เพื่อโอกาสต่อยอดสินเชื่อธุรกิจ
สมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย ผนึกกำลังผู้ประกอบการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ 1,091 รายทั่วประเทศ ร่วมหาทางออกให้คนเป็นหนี้ในงานมหกรรมร่วมใจแก้ไขหนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ พร้อมสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อประกอบอาชีพ โดยเน้น 5 มาตรการหลักช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งพักการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระ ลดดอกเบี้ย ลดค่าผ่อนชำระต่องวด และไม่คิดค่าใช้จ่ายในการทวงถามและค่าปรับ มั่นใจจะช่วยลดปัญหาหนี้สินของประชาชนและเพิ่มโอกาสในการต่อยอดสินเชื่อธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานรากได้ หลังจากที่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมธนาคาร สมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย และหน่วยงานอื่น ๆ จัดงานมหกรรมร่วมใจแก้ไขหนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 20 -22 มกราคม 2566 ณ ศาลาประชาคมเทศบาลบ้านสวน จังหวัดชลบุรี โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงาน โดยการจัดงานในครั้งนี้เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบของประชาชน รวมถึงสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อประกอบอาชีพ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย สถาบันการเงินที่มีสมาชิกผู้ประกอบการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ในปัจจุบันจำนวน 1,091 รายทั่วประเทศ (ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 7.17%) กล่าวถึงสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ว่าเป็นสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดที่อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ง่ายขึ้น เพื่อลดการกู้หนี้นอกระบบ โดยผู้ประกอบการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ จะให้บริการสินเชื่อ 2 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อพิโกธรรมดา วงเงินกู้ไม่เกิน 50,000 บาท และคิดอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมแล้วไม่เกิน 36% ต่อปี หรือคิดเป็นเดือนละ 3% พร้อมลดต้นลดดอก และสินเชื่อพิโกพลัส วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาท และคิดอัตราดอกเบี้ยแบ่งเป็น 2 วงเงิน โดยวงเงินแรก 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 36% เหมือนพิโกธรรมดา และส่วนที่เกินวงเงิน 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมแล้วไม่เกิน 28% ต่อปี
ในช่วงปี 2564-2565 พิโกไฟแนนซ์มีอัตราการเติบโตของธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมีจำนวนผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ในปี 2564 จำนวน 1,091 ราย และเพิ่มขึ้นอีก 73 รายในปี 2565 คิดเป็นอัตราการเติบโต 7.17% และมีสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวนบัญชีรวม ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2565 เป็นจำนวนทั้งหมด 2,571,584 บัญชี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวนบัญชีทั้งหมด 1,135,016 บัญชี หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึง 126.56% โดยมีสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นในปี 2565 จำนวน 27,452.56 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวน 16,112.41 มากถึง 70.38% อย่างไรก็ตามในจำนวนนี้มีหนี้ที่ค้างชำระ 1-3 เดือนแรก (SM) 14.98 % และหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน (NPL) 19.77% ซึ่งในปี 2566 คาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 8 พันล้านบาท
ด้าน นายฉัตรชัย เล่งอี้ ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ กล่าวถึงนโยบายความช่วยเหลือจากรัฐบาลว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาหนี้นอกระบบที่เกิดขึ้นในชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนมาก จึงได้มีนโยบายจัดตั้ง พิโกไฟแนนซ์ ขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมีวัตถุประสงค์ที่เปิดกว้าง คือเป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ ที่ผู้กู้สามารถนำไปชำระหนี้ต่าง ๆ ได้ ทั้งเงินกู้นอกระบบ หรือชำระค่าเทอม หรือเพื่อประกอบอาชีพ โดยจะมีหลักประกันหรือไม่มีก็ได้ สำหรับวงเงินกู้นั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละรายจะเป็นผู้พิจารณา
“ผู้กู้มีทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ถ้าหากมีผู้ค้ำประกันก็อาจจะไม่ต้องใช้หลักทรัพย์อื่น แต่หากไม่มีผู้ค้ำประกันก็ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น เล่มทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ เล่มทะเบียนรถยนต์ หรือโฉนดที่ดิน จากความยืดหยุ่นที่ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่าย ทำให้พิโกไฟแนนซ์เป็นสถาบันการเงินขนาดย่อยที่ใกล้ชิดชุมชนมากที่สุด โดยมีการปล่อยสินเชื่อดำเนินการมานานกว่า 5 ปี ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีปัญหาหนี้เสียเกิดขึ้นด้วย แต่กระทรวงการคลังก็ยังมีนโยบายให้ดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ใน 5 มาตรการ คือ 1. พักจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน 2. ขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระออกไปให้ยืดยาวออกไป 3. ลดดอกเบี้ย 4. ลดค่าผ่อนชำระแต่ละงวดให้น้อยลง และ 5. ไม่คิดการทวงถาม ไม่คิดค่าใช้จ่ายในการปรับจากกรณีล่าช้า ซึ่งในงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ เราสามารถให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ได้ถึงสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่กู้เงินได้มีโอกาสมาปรับโครงสร้างหนี้ และกลุ่มที่เป็นหนี้นอกระบบ ได้มีโอกาสล้างหนี้นอกระบบและเข้าสู่ระบบพิโกไฟแนนซ์” นายฉัตรชัย เล่งอี้ กล่าว
การจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” โดย กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่ง รวมทั้งผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ ได้ร่วมผนึกกำลังจัดขึ้นในครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจให้กับประชาชน โดยลดปัญหาหนี้สินของประชาชน และต่อยอดสินเชื่อธุรกิจให้เดินต่อได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมต่อไป
ขอขอบคุณ ที่มา : https://www.siamnewspaper.com/2023/7878/